ข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2564
- ภาพรวมของการท่องเที่ยวในประเทศมีแนวโน้มดีขึ้น หลังจากที่สถานการณ์ COVID-19 ระลอกใหม่คลี่คลายลง พร้อมแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และแผนการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับคนไทย
- ในขณะเดียวกัน ตลาดต่างประเทศมีสัญญาณการฟื้นตัว จากภาพลักษณ์ที่ดีของไทยในการรับมือกับสถานการณ์ COVID-19 ติดอันดับโลก (The Safe Place to Travel 2021) โดยคาดการณ์ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 16,000 คน
แนวโน้มสถานการณ์ท่องเที่ยวไทย
ตลาดในประเทศ ไตรมาสที่ 1
นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ในช่วงกลางเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากแรงงานต่างด้าวชาวเมียนมาในจังหวัดสมุทรสาคร และลุกลามแพร่กระจายเป็นวงกว้าง 60 จังหวัด
ทั่วประเทศ ซึ่งการระบาดครั้งนี้มีความรวดเร็วในการแพร่เชื้อและรุนแรงกว่ารอบแรก ทำให้ภาครัฐประกาศมาตรการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดและเฝ้าระวังอย่างเข้มข้นโดยแบ่งโซนพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงไปจนถึงพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่ำทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2564 เป็นต้นมา พร้อมกับขอความร่วมมือประชาชนในการเดินทางข้ามภูมิภาคเฉพาะที่จำเป็น ส่งผลให้เดือนกุมภาพันธ์ สามารถควบคุมการแพร่ระบาดให้อยู่ในวงจำกัดได้ และมีแนวโน้มอยู่ในทิศทางที่ดีขึ้น ทำให้เริ่มเห็นสัญญาณการออกเดินทางของคนไทย ทั้งที่มาจากความต้องการของคนไทยเพื่อเดินทางท่องเที่ยว พักผ่อนคลายความตึงเครียดจากการระบาดของ COVID-19 และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ ผนวกกับวันหยุดยาวต่อเนื่องหลายช่วง และการฉีดวัคซีนรอบแรกในพื้นที่ 13 จังหวัด (8 จังหวัดอยู่ในพื้นที่ภาคกลาง และ 5 จังหวัดในภูมิภาคอื่น ๆ ประกอบด้วย เชียงใหม่ ตาก ชลบุรี ภูเก็ต และสุราษฎร์ธานี) เพื่อสร้างความมั่นใจและกระตุ้นให้เกิดการเดินทาง
ท่องเที่ยวมากขึ้นอย่างไรก็ตาม สถานการณ์ท่องเที่ยวในประเทศไตรมาส 1 ปี 2564 ยังอยู่ในภาวะชะลอตัว เนื่องจากประชาชนบางส่วนยังมีความวิตกกังวล ไม่เชื่อมั่นในความปลอดภัย กลัวการติดเชื้อ จึงชะลอการเดินทางออกไปก่อน หรือออกเดินทางท่องเที่ยวแต่หลีกเลี่ยงที่จะพักค้างแรม กอปรกับสภาพเศรษฐกิจในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัว และปัญหาหมอกควัน ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ที่ยังมีค่าสูงเกินมาตรฐานในบางพื้นที่ของภาคเหนือ ดังนั้น จึงคาดว่าในไตรมาสนี้มีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย 14.58 ล้านคน-ครั้ง ลดลงร้อยละ 42 และรายได้ทางการท่องเที่ยว 113,400 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 40 โดยภูมิภาคภาคเหนือมีอัตราการติดลบน้อยกว่าภูมิภาคอื่น อาจเพราะเป็นช่วงอากาศหนาวเย็น เหมาะแก่การเดินทางท่องเที่ยวพักผ่อน ทำให้คนไทยเลือกที่จะเดินทางไปสัมผัสความเย็นตามยอดภู ยอดดอย ขณะที่ภาคใต้จะมีอัตราการติดลบมากที่สุด (ไม่รวมกรุงเทพฯ)
สถานการณ์รายภูมิภาค
หมายเหตุ :ข้อมูลสถิติประมาณการเบื้องต้นโดยกองกลยุทธ์การตลาด ททท. (วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564)
ปัจจัยสนับสนุน
- มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ อาทิ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน คนละครึ่ง เราชนะ
- การฉีดวัคซีนรอบแรก
- วันหยุดยาวต่อเนื่อง อาทิ ตรุษจีน มาฆบูชา
ปัจจัยอุปสรรค
- การระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่
- เศรษฐกิจภายในประเทศยังไม่ฟื้นตัว อัตราการว่างงานสูง หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น
ตลาดในประเทศ ไตรมาสที่ 2
ท่องเที่ยวในประเทศไตรมาส 2 ปี 2564 มีแนวโน้มอยู่ในทิศทางที่ดีขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดคลี่คลาย ผนวกกับแผนการฉีดวัคซีนของคนไทยบางส่วนช่วงไตรมาส 1 และไตรมาส 2 จะช่วยสร้างความมั่นใจ และลดความวิตกกังวลของคนไทยให้ตัดสินใจออกเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น กอปรกับมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวจากภาครัฐ และวันหยุดยาวติดต่อกันหลายช่วง การปิดภาคเรียน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่นักท่องเที่ยวคนไทยอย่างกลุ่มครอบครัว เพื่อน คู่รัก นิยมออกเที่ยว นอกจากนี้ ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกยังคงพบการติดเชื้อและคาดว่าผลของการฉีดวัคซีนในแต่ละประเทศจะเกิดประสิทธิภาพและควบคุม
ได้สำเร็จคงเป็นช่วงปลายปี 2564 ส่งผลให้กลุ่ม ‘คนไทยเที่ยวนอก’ ต่างไม่สามารถออกเดินทางไปต่างประเทศได้ และหันมาเที่ยวในประเทศแทน ทำให้สถานการณ์ท่องเที่ยวภายในประเทศฟื้นตัวขึ้น
แต่จะยังไม่ทั่วถึงทุกพื้นที่ โดยภูมิภาคที่มีการฟื้นตัวได้ก่อน พบว่าเป็นภูมิภาคที่พึ่งพิงจำนวนและรายได้คนไทยเป็นหลักมากกว่า 70% และนักท่องเที่ยวมักเดินทางด้วยรถยนต์ ได้แก่ภูมิภาคระยะใกล้อย่างภาคกลาง ภาคตะวันตกและภาคตะวันออก ส่วนภูมิภาคที่แม้นักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งเดินทางด้วยเครื่องบิน แต่พึ่งพิงจำนวนและรายได้คนไทยเป็นหลัก มีโอกาสจะฟื้นตัวตามมาได้แก่ ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขณะที่ภาคใต้จะฟื้นตัวได้ค่อนข้างช้า เนื่องจากรายได้หลักมาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ และนักท่องเที่ยวจำนวนมากต้องเดินทางไปด้วยเครื่องบิน
อย่างไรก็ตาม แม้ภาพรวมสถานการณ์ท่องเที่ยวในประเทศขยับตัวดี แต่ยังต่ำกว่าระดับปกติก่อนเกิด COVID-19 เพราะยังมีแนวโน้มความกังวลต่อความเสี่ยงของการระบาดระลอกใหม่อีกครั้ง และผลของการฉีดวัคซีน ขณะที่รายได้ทางการท่องเที่ยวยังไม่กลับคืนมาในระดับปกติเช่นกัน เนื่องจากยังมีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจในประเทศ ปัญหาค่าครองชีพที่สูง กำลังซื้อของคนไทยมีจำกัด ทำให้ต้องระมัดระวังการใช้จ่าย และปรับพฤติกรรรมการเดินทางท่องเที่ยวด้วยการใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น เดินทางท่องเที่ยวระยะใกล้ เน้นขับรถยนต์มากขึ้น พร้อมกับลดจำนวนวันพักและความถี่ในการเดินทางท่องเที่ยว ดังนั้น สถานการณ์ท่องเที่ยวภายในประเทศไตรมาส 2 ปี 2564 คาดว่า จะมีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย 18.07 ล้านคน-ครั้ง และมีรายได้ทางการท่องเที่ยว 118,700 ล้านบาท โดยทั้งจำนวนและรายได้มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดอยู่ที่ 347% และ 534% ตามลำดับ
ปัจจัยสนับสนุน
- ภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง
- การฉีดวัคซีนของคนไทยบางส่วนใน 13 จังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ขับรถเที่ยว หรือพื้นที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของคนไทย จะช่วยสร้างความมั่นใจในการออกเดินทางท่องเที่ยว
- การแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่เป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวไทย อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ทำให้คนไทยไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้
ประเด็นติดตาม
- ผลกระทบทางเศรษฐกิจโลกและในประเทศไทย
- ความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่อีกครั้ง
ตลาดต่างประเทศ ไตรมาสที่ 1
ที่มา :คาดการณ์โดย ททท. (กุมภาพันธ์ 2564) จากข้อมูลเบื้องต้นเดือนมกราคม 2564 โดยกองเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวและกีฬา
ต้นปี 2564 เกิดการระบาดระลอกใหม่ในหลายประเทศ ผนวกกับพบไวรัสกลายพันธุ์ที่แพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว หลายประเทศจึงกลับมาใช้มาตรการ Lockdown ห้ามเดินทางต่างประเทศเพื่อสกัดการแพร่ระบาดฯ ขณะเดียวกันเกิดการแพร่ระบาดใหม่ในประเทศไทยซึ่งกระจายทั่วประเทศอย่างรวดเร็วจนเป็นที่สนใจในต่างประเทศ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยจาก COVID-19 ของไทย
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา ไทยเริ่มผ่อนคลายให้ชาวต่างชาติเข้าประเทศได้ผ่านวีซ่าประเภทต่างๆ เช่น Tourist Visa (TR), Special Tourist Visa (STV) รวมทั้งมีสถานที่กักตัวที่หลากหลายตามความสนใจของนักท่องเที่ยว ส่งผลให้เริ่มมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยเพิ่มขึ้น
ปัจจัยสนับสนุน
- ตลาดนักท่องเที่ยวหลักของไทยเริ่มมีการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 เช่น จีน สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และเยอรมนี
- ประเทศไทยมีภาพลักษณ์ที่ดีในการรับมือ COVID-19 เช่น การเป็นต้นแบบจัดแข่งขันแบดมินตันระดับโลก, ติดอันดับ 10 ในรายชื่อ The Safest Places to Travel in 2021 (travelpulse.com)
- ไทยมีทางเลือกในการกักตัวหลายรูปแบบตามไลฟ์สไตล์นักท่องเที่ยว เช่น Golf Quarantine, Wellness Qurantine, และ Villa Quarantine
- มีเที่ยวบินตรงเข้าไทย (Semi-commercial flight) จาก 24 ประเทศ 32 เมือง เช่น สิงคโปร์ โตเกียว ฮ่องกง เซี่ยงไฮ้ ปารีส ลอนดอน และแฟรงก์เฟิร์ต
- การส่งเสริมการตลาดอย่างต่อเนื่องของ ททท.
- โฆษณา/ประชาสัมพันธ์ในต่างประเทศต่อเนื่อง เน้นย้ำให้ประเทศไทยเป็น top of mind ของนักท่องเที่ยว
- ประสานนำนักท่องเที่ยวกลุ่มที่ทางการอนุญาตเข้าประเทศ เช่น กลุ่ม Longstays กลุ่ม Golf และกลุ่ม Elite
- เร่งทำ Pre-Sale กระตุ้นการจองล่วงหน้า “Book Now Travel Later”, “Flexible Deal”
- จัดทำ platform “ASQ Paradise” ศูนย์รวมข้อมูลสถานที่กักตัวในเมืองไทย อำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยว
ปัจจัยอุปสรรคและประเด็นติดตาม
- เกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ทั่วโลก โดยเฉพาะตลาดหลักของไทย เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส
- COVID-19 กลายพันธุ์แพร่กระจายได้เร็วกว่าเดิม 3 เท่า
- นานาประเทศกลับมาเข้มงวดมาตรการจำกัดการเดินทาง หลังมีการระบาดระลอกใหม่ เช่น Lockdown พื้นที่ Travel Ban
- ประเทศไทยมีการระบาดระลอกใหม่อย่างรวดเร็วช่วงต้นปี ทำให้ต่างชาติลดความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยของไทย
- ไทยมีมาตรการเข้มงวดกักตัวต่างชาติ 14 วัน และมีแนวโน้มจะปรับเพิ่มเป็น 21 วัน ถ้ามาจากประเทศเสี่ยงสูง
- ห้ามบินเข้า-ออกประเทศเมียนมาถึงเดือนพฤษภาคม 2564 หลังเกิดรัฐประหารในเมียนมา
การดำเนินการของคู่แข่งขัน
- UAE : เสนอให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศโดยไม่ต้องกักตัว ถ้ามีผลตรวจ COVID-19 เป็นลบ
- Singapore : เตรียมผ่อนคลายข้อกำหนดเข้าประเทศให้กับผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้ว
- Cambodia : มีแผนทำ Travel Bubble กับ อาเซียน สาธารณรัฐประชาชนจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น
- Japan : ปี 2564 เตรียมเปิดสำนักงานท่องเที่ยวในดูไบ รุกทำตลาดหนุ่มสาวอาหรับ
- Portugal : ตั้งเป้าเป็น World First Digital Village รับกลุ่ม Digital Nomad ทั่วโลก
- Malaysia : ทำ Live streaming พานักท่องเที่ยวชมแหล่งท่องเที่ยวในมาเลเซียผ่านออนไลน์ในช่วงที่ยังเดินทางมาไม่ได้
ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564
ตลาดต่างประเทศ ไตรมาสที่ 2
ที่มา : ททท.
ไตรมาสที่ 2 คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา โดยมี “วัคซีน” และ “มาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทย” เป็นตัวแปรหลักในการขับเคลื่อนการฟื้นตัวของตลาดต่างประเทศ โดยหลายประเทศมีแนวโน้มเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมพลเมืองจำนวนมาก และไทยมีแผนจะฉีดวัคซีนให้ประชาชนในเมืองท่องเที่ยวหลัก รวมถึงความพยายามลดอุปสรรคในการเดินทางเข้าประเทศไทย ซึ่งจะช่วยให้การเปิดประเทศเกิดขึ้นได้เร็วขึ้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งจะให้
ความสำคัญกับสุขอนามัย ความปลอดภัยขั้นพื้นฐาน ขั้นตอนการเดินทาง (Protocol) และความยืนหยุ่นของข้อเสนอทางการท่องเที่ยว
ความคืบหน้าการฉีดวัคซีน “ตลาดนักท่องเที่ยวหลักของไทย”
ที่มา : แหล่งข้อมูล Bloomberg (22 กุมภาพันธ์ 2564) , วิเคราะห์โดย ททท.
แนวโน้มเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้เร็ว- มีโอกาสออกท่องเที่ยวได้เร็ว
- ประเทศที่มีสัดส่วนฉีดวัคซีนต่อประชากรสูงและมีการฉีดวัคซีนจำนวนมาก : สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร อิสราเอล สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE)
ผู้ได้รับวัคซีนมีจำนวนมาก- มีโอกาสออกท่องเที่ยวได้จำนวนมาก
- ประเทศที่ฉีดวัคซีนให้ประชากรจำนวนมาก : จีน อินเดีย เยอรมนี
คาดการณ์ช่วงเวลาที่นักท่องเที่ยวจะออกเดินทางได้หลังจากได้รับวัคซีนของประชาชนทั่วไปในแต่ละประเทศ
ปัจจัยสนับสนุน
- จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกมีแนวโน้มลดลง จากการเร่งฉีดวัคซีนอย่างกว้างขวางในประเทศต่าง ๆ
- IATA (สมาคมขนส่งทางอากาศ) เตรียมผลักดันใช้ IATA Travel Pass เป็นหนังสือรับรองดิจิทัลพิสูจน์การฉีดวัคซีนสำหรับเดินทางทั่วโลก
- ไทยมีแผนฉีดวัคซีนให้คนไทยระยะที่ 1 (มีนาคม 2564) ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและพื้นที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ และชลบุรี
- ไทยอนุญาตเที่ยวบิน Transit ทำการบินเข้าประเทศ ช่วยให้นักท่องเที่ยวมีช่องทางในการเดินทางมาไทยมากขึ้น
- ภาครัฐและเอกชนเร่งหารือแนวทางเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่น Quarantine@home, และ Mobile Quarantine
ประเด็นติดตาม
- พฤติกรรมการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวเปลี่ยนแปลงไป จากผลกระทบของวิกฤต COVID-19 : เก็บออมเงินมากขึ้น ลดการเดินทางท่องเที่ยว
- การจองบัตรโดยสารเครื่องบินล่วงหน้าเข้าไทยยังคงไม่ฟื้นตัว (-98% ในเดือนเมษายน 2564)
- ประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันเชื้อ COVID-19 กลายพันธุ์
- การกลับมาทำการบินเข้าไทยของสายการบินต่าง ๆ
- การผ่อนคลายมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทย
การเตรียมความพร้อมใช้ Vaccine Passport
- Estonia : เตรียมใช้ E-Vaccination Certificates
- Sweden-Denmark : พัฒนา Digital Vaccine Passport
- Israel : เปิดตัวแอปพลิเคชั่น “Green Pass” เชื่อมข้อมูลประชาชนกับเวชระเบียนผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบหรือมีภูมิคุ้มกัน Covid-19
- Microsoft : วางแผนพัฒนาโปรแกรมในมือถือจัดเก็บข้อมูลการฉีดวัคซีนส่วนบุคคลในรูปแบบ “Digital Wallet”
- IATA : จัดทำ Iata Travel Pass แสดงข้อมูลการได้รับฉีดวัคซีนของผู้โดยสารเครื่องบิน สำหรับสายการบินตรวจสอบก่อนขึ้นเครื่อง
ข้อมูล ณ วันที่ 30 มีนาคม 2564
ปัณณ์ตา ยงณรงค์เดชกุล ผู้จัดทำ